เมื่อกล่าวถึง ‘ภาษาศาสตร์ประยุกต์’ หลายๆ คนในแวดวงการศึกษาด้านภาษามักจะมีความเข้าใจรับรู้ ‘ภาษาศาสตร์ประยุกต์’ ในมุมมองจากประสบการณ์ส่วนตัวที่แตกต่างกันออกไปจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้ยินและได้ฟังมา ทั้งจากนักศึกษาและเพื่อนร่วมอาชีพ บางคนยึดติดคำนิยามของ ‘ภาษาศาสตร์ประยุกต์’ ว่าเป็นการสอนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะการสอนภาษาอังกฤษ นั่นอาจจะเป็นเพราะปริมาณงานวิจัยที่นักวิชาการในสาขาการสอนภาษาอังกฤษได้ผลิตและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั่วโลก ทำให้ผู้คนรับรู้และเชื่อมโยง ‘ภาษาศาสตร์ประยุกต์’ กับ การสอนภาษาต่างประเทศเป็นหลักเพียงด้านเดียว ในขณะที่บางคนมีมุมมองต่อ ‘ภาษาศาสตร์ประยุกต์’ ว่าเป็นศาสตร์ที่ไม่ได้อยู่บนฐานของทฤษฎี เป็นเพียงการมุ่งเน้นด้านกระบวนการปฏิบัติ เช่น การสอนภาษา การแปล เป็นต้น ไม่เพียงแต่ความเข้าใจที่ว่า‘ภาษาศาสตร์ประยุกต์’ เน้นไปที่กระบวนการปฏิบัติ หลายๆ คนมักมองข้ามผลลัพธ์ทางสังคมของ ‘ภาษาศาสตร์ประยุกต์’ ไปโดยสิ้นเชิงเนื่องจากมุ่งให้ความสำคัญไปที่กระบวนการเพียงอย่างเดียว จากประสบการณ์ดังกล่าว ที่ผู้เขียนได้รับรู้มาตลอดระยะเวลาร่วม 18 ปีที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก การสอน การทำวิจัย และทำงานอยู่ในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับภาษาศาสตร์ประยุกต์โดยตรง