"...การศึกษาประวัติศาสตร์แบบเดิมของล้านนา...วิเคราะห์พลังความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์เป็นเพราะพระบรมเดชานุภาพ อาณาจักรจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมสลายขึ้นอยู่กับกษัตริย์ แนวทางวิเคราะห์เช่นนี้ละเลยบทบาทของสามัญชนคนชั้นล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้ฐานรากของอาณาจักร..." (คำนำเสนอโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สรัสวดี อ๋องสกุล) ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน ของ วิชญา มาแก้ว จะพาผู้อ่านย้อนเวลากลับไปยังดินแดนแห่งหุบเขาและสายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ที่สามัญชนทั้งหลายได้ร่วมกันสร้างยุคสมัยอันรุ่งเรืองด้วยการค้า ในคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 ล้านนาซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรของป่าที่สำคัญได้เปิดประตูรับยุคสมัยแห่งการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้านนาที่ก่อตัวขึ้นจากเครือรัฐต่างๆ ในดินแดนหุบเขาทางตอนเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐตอนในที่ไม่ติดทะเล โดยล้านนาได้อาศัยเครือข่ายระหว่างเมืองและรัฐในการกระจายสินค้าและทรัพยากรจากดินแดนหุบเขาไปสู่เมืองท่าชายฝั่ง เพื่อส่งออกไปขายในตลาดการค้าใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับโครงสร้างสังคมและการปกครองของล้านนาที่เอื้อให้ชนชั้นล่างหรือไพร่มีอิสระในการทำค้า-ทำการผลิต ทำให้ไพร่เหล่านี้บางส่วนกลายเป็นทั้งพ่อค้า ช่างฝีมือ และบางคนในพวกนี้สามารถสะสมทุนได้จากการค้าที่รุ่งเรือง และกระจายความมั่งคั่งผ่านการระดุมทุนสร้างวัดอันทำให้เกิดการจ้างงาน การผลิต และการค้าอีกต่อหนึ่งด้วย หนังสือเล่มนี้ จะเผยให้เห็นบทบาทของสามัญชนต่อเศรษฐกิจการค้าในล้านนายุคทอง